เล่นมือถือตอนฝนตก ฟ้าร้อง เรื่องที่ควรรู้ที่สุดในตอนนี้
ความเชื่อหนึ่งที่ผมเคยได้ยินตั้งแต่มีมือถือใช้เครื่องแรก นั่นคือ “ เล่นมือถือตอนฝนตก ฟ้าร้อง ระวังฟ้าผ่านะ ” แถมปัจจุบันก็ยังได้ยินเรื่องราวเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ ดังนั้นเพื่อไขข้อข้องใจต่อประเด็นดังกล่าว เว็บตามใจจึงขอหยิบบทความมาช่วยอธิบายและเพื่อเป็นข้อมูลให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเป็นบางช่วงบางตอนของบทความในหัวข้อ “ฟ้าผ่า ข้อเท็จจริงที่ควรรู้” จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ให้ข้อมูลโดย ดร.คมสัน เพ็ชรรักษ์ หัวหน้าห้องจำลองฟ้าผ่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“…ส่วนกรณีของโลหะและโทรศัพท์มือถือ ไม่นับว่าเป็นสื่อล่อฟ้าได้แน่นอน เพราะโทรศัพท์เวลาใช้งานจะอยู่ต่ำกว่าตัวคน ที่สำคัญพลังงานของสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่สามารถทำให้อากาศแตกตัวเป็นตัวนำ ได้ พร้อมกันนี้ยังมีรายงานว่าการใช้โทรศัพท์อยู่ใกล้บริเวณที่เกิดฟ้าผ่า อาจจะมีผลเหนี่ยวนำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรและเกิดการระเบิดจนเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บได้ เป็นผลข้างเคียง แต่ไม่ใช่สื่อล่อให้ฟ้าผ่า อย่างไรก็ดีการใช้โทรศัพท์มือถือในสภาวะที่เกิดฝนฟ้าคะนอง ก็นับเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะหากน้ำเข้าโทรศัพท์ก็มีโอกาสทำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรได้เช่นเดียวกัน…” (ข้อมูลอ้างอิง สวทช. “ฟ้าผ่า” ข้อเท็จจริงที่ควรรู้)
สรุปให้เข้าใจง่าย คือ มือถือไม่นับเป็นสายล่อฟ้า และการพกหรือใช้มือถือในขณะฝนตก ฟ้าร้องแล้วทำให้ฟ้าฝ่าจึงไม่เป็นความจริง
ขณะเดียวกัน อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ก็เคยโพสต์ใน Facebook ส่วนตัว ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันอีกด้วย (ข้อมูลอ้างอิง Facebook : Jessada Denduangboripant)