ไวรัสโคโรน่าที่ว่าน่ากลัว ข่าวปลอม ข่าวลวงยิ่งทำให้เรากลัวมากขึ้นไปอีก

ช่วงนี้เชื้อไวรัสโคโรน่ากำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศครับ ความน่ากลัวของเชื้อชนิดนี้ทำให้คนทั่วโลกหวาดวิตกกันมาก ความน่ากลัวอีกเรื่องที่ผมนำมาบอกเล่าครั้งนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเรามากๆ ครับ นั่นคือ ‘ข่าวลวงบนโลกโซเชียล’ แพร่กระจายเร็ว สร้างความเข้าใจผิด ก่อเกิดเป็นความกลัว ที่เปรียบเสมือนเชื้อร้ายที่แพร่กระจายรวดเร็ว หากใครหลงเชื่อจนสนิทใจ แม้จะมียาหรือวัคซีนก็ไม่อาจบรรเทาความเข้าใจที่ผิดๆ ได้

ทำไมถึงหยิบเรื่องนี้มาเล่า ?

ข่าวคราวของเชื้อไวรัสโคโรน่าช่วงนี้มีให้เราได้ติดตามกันทุกวันครับ แต่ข่าวที่ออกมาตามโซเชียลระยะนี้ก็ต้องใช้วิจารณญาณกันมากพอสมควรครับ เพราะจากที่ผมเจอในโซเชียลส่วนตัวของผมเองทั้ง Facebook, Twitter และ LINE พบว่ามีการส่งต่อข่าว, รูป, คลิปวิดีโอที่ไม่เป็นความจริง หรือยังไม่มีการยืนยันใดๆ กันเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่าง ข่าวปลอมจากเพจ SSBN-Thailand เรื่องมาตรการการป้องเชื้อไวรัสโคโรน่าของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่มีการแชร์เป็นจำนวนมาก ที่มา : Natt Apiwat Moolnangdeaw

คำพูดที่ผมมักจะได้ยินบ่อยจนเคยชินเวลาเข้าไปทักท้วงในไลน์กลุ่ม โดยเฉพาะในไลน์กลุ่มญาติๆ เมื่อมีการแชร์สารพัดข่าว นั่นคือ ‘…ก็เห็นคนอื่นเค้าแชร์มา…, คนนั้นแชร์, เค้าบอกมา, เค้าว่ามา…บลาๆๆ !!’

เมื่อมีการส่งต่อข่าวลวง ข่าวปลอมผ่านทางโซเชียล หากไม่มีการกรั่นกรองหรือหาข้อมูลข้อเท็จจริงก็จะนำไปสู่การหลงเชื่อข้อมูลผิดๆ จนอาจนำไปสู่การบอกต่อปากต่อปากที่ยากต่อการควบคุมและแก้ไขให้เข้าใจในข้อเท็จจริง

ตัวอย่าง การหลงเชื่อข้อมูลที่ผิด | ที่มา : Drama-addict

ทำไงดี ถึงจะรู้ว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม

ผมเชื่อว่าข่าวของไวรัสโคโรน่ายังมีต่อไปอีกหลายสัปดาห์หรืออาจจะหลายเดือนจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ คุณผู้อ่านลองสังเกตเองได้ครับว่า หนึ่งถึงสองสัปดาห์นี้มีข่าวเรื่องไวรัสโคโรน่า ไม่ว่าจะเป็นลิงก์จากเพจข่าว, คลิปวิดีโอ, รูปภาพต่างๆ รวมๆ แล้วอาจจะนับไม่ถ้วน ซึ่งเชื่อหรือเปล่าครับว่าในจำนวนข่าวที่ออกมามีทั้งเรื่องจริงและไม่จริง

ตัวอย่าง กรณีคลิปที่คนจีนป่วยจากเชื้อไวรัสโคโรน่าจนล้มลงบนพื้น ซึ่งยังไม่มีการยืนยันใดๆ ว่าเป็นเรื่องจริง แต่กลับมีการแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก ที่มา : Thai PBS

ในการเสพข่าวเรื่องไวรัสโคโรน่าในแบบของผมนั้นจะมีไม่กี่วิธีครับ ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ ไม่ต้องอาศัยเทคนิคอะไรให้ซับซ้อน ผมเลยถือโอกาสมาแชร์วิธีของผมให้คุณผู้อ่านทุกท่านได้ลองเอาไปใช้กันครับ เพื่อที่คุณผู้อ่านจะได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องไวรัสโคโรน่าที่ถูกต้องครับ

1. เห็นข่าวต้องใจเย็น หวังดีอยากแชร์ ต้องรอก่อน

หลากหลายข้อมูลที่เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่าบนโลกโซเชียล มีทั้งเรื่องจริงและไม่จริง เพราะฉะนั้นเราควรตั้งสติให้ดี แม้เราจะมีความรู้สึกเป็นห่วง หวังดี อยากเตือนเพื่อนใน Facebook, Twitter, LINE แต่ก็ควรใจเย็น เช็กข้อมูลให้ดีก่อนว่าข่าวที่กำลังจะกดแชร์มีที่มาที่ไปจากไหน จากสำนักข่าว, จากภาครัฐ หรือโรงพยาบาล

หากเป็นเพจข่าวที่ไม่เคยเห็น แต่จู่ๆ เด้งมาบนหน้าฟีด Facebook ถ้าเข้าไปอ่านแล้วไม่มีข้อมูลหรืออ้างอิงแหล่งที่มา เลื่อนผ่านได้เลื่อนผ่านเลยครับ หรือหากเพจดังกล่าวมีการนำเสนอข้อมูลแบบผิดๆ สามารถกด Report เพจนั้นเลยได้ครับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแชร์ต่อ

2. เช็กข้อมูลจากแหล่งข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ

วิธีเสพข่าวเรื่องเชื้อไวรัสโคโรน่าจากแหล่งข่าวที่มีความเชื่อถือ ผมสรุปมาให้เลยครับว่า ควรเช็กจากที่ไหนได้บ้าง

– ประกาศอย่างเป็นทางการของ ‘กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธาณสุข’ ทั้งแฟนเพจและเว็บไซต์ รวมทั้ง ‘องค์การอนามัยโลก (WHO)’ ผมแนบลิงก์มาให้ด้วยครับ

 กรมควบคุมโรค

https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/intro.php

 แฟนเพจ กระทรวงสาธารณสุข

https://www.facebook.com/fanmoph/

แฟนเพจ องค์การอนามัยโลก

https://www.facebook.com/WHO

3. เห็นข่าว ‘อย่าอ่านเพียงหัวข้อข่าว’ ควรคลิกเข้าไปอ่านรายละเอียดด้วย

4. อ่านวันที่ในข่าวด้วยว่ามีการโพสต์วันที่เท่าไหร่ เดือน ปีอะไร

5. ติดตามสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า

เราสามารถติดตามสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่าได้แบบเรียลไทม์ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก (WHO), หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (CDC), ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (ECDC), ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (CCDC), คณะกรรมาธิการสาธารณสุขแห่งชาติจีน (NHC)

เว็บไซต์ติดตามสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรน่า

https://bit.ly/37sOHIk

สรุป

ความน่ากลัวของเชื้อไวรัสโคโรน่านอกจากจะทำให้เราตื่นตัวและหาวิธีป้องกันตัวเองแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เราควรระมัดระวังและใช้วิจารณญาณมากขึ้น นั่นคือ การเสพข่าวบนโลกโซเชียล เพราะตอนนี้มีทั้งเรื่องจริงและไม่จริง หากเรารับข้อมูลข่าวสารแบบผิดๆ หลงเชื่อในข้อมูลที่ไม่มีการยืนยันก็อาจสร้างความตระหนกตกใจ สะสมความกลัว ก่อเกิดความวิตกกังวล จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต

ฉะนั้นแล้วเราควรใช้สติในการอ่านข่าว ต่อให้เป็นห่วง หวังดี อยากเตือนเพื่อนก็ควรเช็กข้อมูลให้ชัวร์ก่อนจะกดแชร์ หรือหากผมว่าเพื่อนหรือครอบครัวมีการแชร์ข่าวปลอมก็อย่าลืมเตือนพวกเค้า พร้อมหยิบข้อมูลที่ถูกต้องให้พวกเค้าได้รับทราบข้อเท็จจริงกันด้วยนะครับ วิธีง่ายๆ ที่เราทำได้ด้วยตัวเองครับ

CK

CK - นามแฝงจากเรื่องใกล้ตัว คอยแบ่งปันเรื่องไอทีผ่านตัวหนังสือที่จะทำให้คนอ่านเข้าใจง่าย ทั้งข่าว, รีวิวมือถือ หรือจะเป็น How to ก็อยากแชร์ให้ทุกคนได้สัมผัสว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ ... ขอให้มีความสุขกับทุกบทความบนเว็บไซต์ 'ตามใจด็อทคอม' - www.tarmjai.com ครับ ^^

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *