Huawei HarmonyOS ระบบปฏิบัติการใหม่ เตรียมพร้อมหากใช้ Android ไม่ได้

แม้เหตุการณ์สหรัฐฯ แบน Huawei จะคลี่คลายลงไปแล้ว ช่วยลดความกังวลของคนใช้มือถือ Huawei ไปได้ แต่ Huawei เองก็นิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าวันดีคืนดี สหรัฐฯ จะสั่งให้ Google แบน Huawei ไม่ให้ใช้ Android อีกเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น Huawei HarmonyOS จึงถือกำเนิดขึ้น เสมือนเป็นการประกาศให้สหรัฐฯ รู้ไว้ว่า หากในอนาคตใช้ Android ไม่ได้ เราก็มีแผนรับมือไว้แล้ว

Huawei HarmonyOS
ภาพจาก @huaweimobile

Huawei HarmonyOS เปิดตัวไปในงาน HDC หรือ Huawei Developer Conference 2019 เป็นระบบปฏิบัติการแบบ Open Source ที่นักพัฒนาสามารถนำแนวคิดของตัวเองมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาแอปหรือบริการที่สามารถทำงานได้กับทุกอุปกรณ์

Huawei ระบุว่า HarmonyOS ใช้ Microkernel จัดการทรัพยากรระบบ เพื่อการทำงานในทุกสภาพการใช้งานและทุกอุปกรณ์ ลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการพัฒนาลง สามารถเชื่อมโยงสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน

Harmony OS ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการแล้วกับสมาร์ททีวี Honor Vision และในอนาคตมันจะขยายไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ มือถือ, แท็บเล็ต, Wearables, อุปกรณ์ประเภท Internet of Thinga รวมไปถึงระบบภายในรถยนต์ด้วย

ภายในงาน HDC 2019 ยังมีการเปิดตัว EMUI 10 เป็นส่วนประสานผู้ใช้แบบ Distributed OS จึงช่วยให้นักพัฒนาสามารถจำลองรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันได้ และจำลองการทำงานต่อเนื่องระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ได้ เสมือนว่านักพัฒนามี Virtual Machine ที่มีประสิทธิภาพสูง

ขณะเดียวกันนักพัฒนาซอฟต์แวร์ยังไม่จำเป็นต้องกังวลถึงข้อแตกต่างของฮาร์ดแวร์ เพราะนักพัฒนาสามารถพัฒนาแอปเพียงครั้งเดียวแต่รองรับการทำงานกับทุกอุปกรณ์ได้ ระบบ Deterministic Latency Engine ยังช่วยลดปัญหาระบบค้างจากการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เหมาะสมในทุกระดับของซอฟต์แวร์ได้ ช่วยให้ EMUI 10 มีความเสถียรตลอดเวลา นักออกแบบยังพัฒนา UX ของระบบปฏิบัติการใหม่นี้ให้สวยงาม และสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้นด้วย โดยผู้ใช้ Huawei P30 Pro ทั่วโลก จะได้รับอัพเดต EMUI 10 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

Huawei ยังเปิดตัวแพลตฟอร์ม HMS ที่จะเข้ามาช่วยให้นักพัฒนาสามารถมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม ลดขั้นตอนการพัฒนา และนำเสนอแอปตนสู่ผู้บริโภคทั่วโลกที่ใช้อุปกรณ์หลากหลายประเภทได้ โดยภายในงาน HDC Huawei จะเปิดส่วนหลักของแพลตฟอร์ม HMS ทั้งสิ้น 14 ส่วน บริการ 51 ประเภท และ APIs 885 ชุดให้นักพัฒนาทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ เพื่อยกระดับแพลตฟอร์มไปอีกขั้น เติมเต็มการใช้งานกับอุปกรณ์ทุกรูปแบบ ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่น 43,000 ตัวที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม HMS

และในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ Huawei จะนำเสนอมาตรฐาน Fast Applications ที่ใช้งานอยู่แล้วในประเทศจีนสู่ตลาดโลก เพื่อการพัฒนาคุณสมบัติของการใช้งานแอปอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องติดตั้งลงในอุปกรณ์ ซึ่งปัจจุบัน Huawei มีบริการมากกว่า 5,000 บริการใน Huawei Ability Gallery สำหรับนักพัฒนาชาวจีน โดยแพลตฟอร์ม Huawei Ability Gallery จะเปิดตัวในเดือนธันวาคมนี้เช่นกัน

เปิดตัวระบบ App Gallery Connect สู่นักพัฒนาทั่วโลก เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักพัฒนาในกระบวนการพัฒนาและนำเสนอแอป ทั้งการสร้างสรรค์ พัฒนา นำเสนอ ดูแล และการวิเคราะห์ นอกจากนี้ Huawei ยังเพิ่มเงินสนับสนุนจาก 1 พันล้านหยวน เป็น 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่โครงการ “Shining Star” และเปิดโอกาสให้นักพัฒนานอกประเทศจีน สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้เป็นครั้งแรก

HiLink, LiteOS และ Chip Suite เป็นอีกแพลตฟอร์มแบบเปิดสำหรับอุปกรณ์และระบบคลาวด์ ระบบปฏิบัติการ และชิปเซ็ตตามลำดับ แพลตฟอร์มดังกล่าวนี้จะช่วยขจัดอุปสรรคของการพัฒนาอุปกรณ์ IoT ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ และช่วยให้กระบวนการพัฒนานั้นง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

– HiLink เป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับการค้นหาและเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องเชื่อมต่อซ้ำ ซึ่งสามารถรองรับอุปกรณ์ที่หลากหลายและการควบคุมหลายรูปแบบ เชื่อมทุกสิ่งเป็นหนึ่งเดียวเพื่อการทำงานที่ง่ายกว่าที่เคย

– LiteOS เป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์ IoT และแอปต่างๆ โดยหัวเว่ยใช้เฟรมเวิร์คการพัฒนาและการสร้างโปรแกม Maple JS ที่มีขีดความสามาถด้านการประมวลผลเทียบเท่าการพัฒนาระบบโดยใช้ภาษา C เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนา

– การผสานชิป HiSilicon, LiteOS, Gigahome และ Honghu ช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้เข้ากับอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ได้โดยสะดวกมากขึ้น

ในงาน HDC 2019 ทาง Huawei ยังนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ อีกมาก เช่น อัลกอริธึม Space Computing และเทคโนโลยีการระบุปัญญาประดิษฐ์ (AI Identification) สำหรับบริการไซเบอร์เวิร์ส (Cyberverse) ที่ผสานโลกจริงและโลก VR เข้าด้วยกัน เพื่อประสบการณ์ที่เหนือกว่า นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเทคโนโลยี 5G แบบช่วงคลื่น mmWave, ระบบควบคุมคลื่น mmWave โดยใช้ท่าทาง และระบบตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจที่อยู่ในสมาร์ทโฟนพับได้ Huawei Mate X นอกจากนี้ หัวเว่ยยังใช้การรวบรวมข้อมูลจากมวลชนเพื่อเก็บข้อมูลแผนที่ ช่วยให้การระบุพิกัดและการนำทางในอาคารแม่นยำมากขึ้น

ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์ Huawei

CK

CK - นามแฝงจากเรื่องใกล้ตัว คอยแบ่งปันเรื่องไอทีผ่านตัวหนังสือที่จะทำให้คนอ่านเข้าใจง่าย ทั้งข่าว, รีวิวมือถือ หรือจะเป็น How to ก็อยากแชร์ให้ทุกคนได้สัมผัสว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ ... ขอให้มีความสุขกับทุกบทความบนเว็บไซต์ 'ตามใจด็อทคอม' - www.tarmjai.com ครับ ^^

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *